Connecting People Through Goodwill and Friendship

วันสุขภาพโลก: พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีสุขภาพจิตดีด้วย

***บทความนี้มีให้อ่านแบบภาษาอังกฤษ***

วันสุขภาพโลกคือวันที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พยายามส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกยูเอ็นทั่วโลกทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งด้านสุขภาพเพื่อร่วมกันทำให้ชาวโลกเรามีพลานามัยดีขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เป็นองค์กรย่อยของยูเอ็นซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2491 ได้กำหนดให้วันที่ 7 เมษายนของทุกปีเป็นวันสุขภาพโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2593 เป็นต้นมา ขณะนี้ทุกปีทั่วโลกประเทศที่เป็นสมาชิกของ WHO จำนวน 193 ประเทศต่างก็ฉลองวันสุขภาพโลกกัน

สำนักงานใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (ภาพจาก https://bit.ly/3wGXNAz)

พระพุทธเจ้าผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนาเมื่อประมาณ 2600 ปีมาแล้วก็มีคำสอนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพจิต

พระพุทธเจ้ากำลังทรงพยาบาลภิกษุอาพาธ (ภาพจาก https://bit.ly/3qGlbu2)

พจนานุกรม Oxford Advanced Learner’s Dictionary ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าสุขภาพไว้หลายความหมาย แต่ขอกล่าวถึงเพียงสองความหมาย คือ สภาพของร่างกายและจิตใจเช่นในประโยคว่า “นี้คือวิธีง่าย ๆ สำหรับทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง” ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี เช่น ในสามประโยคนี้ว่า “การพักผ่อนนอนหลับและการออกกำลังกายจะฟื้นฟูให้สุขภาพกลับมาดีได้” “ดูท่าทางเธอมีสุขภาพดีมากและมีความพึงพอใจกับชีวิตมาก” และ “เมื่อสุขภาพของคุณดี ก็ไม่มีอะไรจะดีไปกว่านี้อีกแล้ว”

เพื่อที่จะได้มีสุขภาพดีคนเราต้องออกกำลังกายและฝึกฝนจิตควบคู่กันไป เช่น รับประทานอาหารสุขภาพ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ถูกส่วน ใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เสพสิ่งเสพติดต่าง ๆ รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะพอดี อยู่ในบ้านเรือนที่ดี นอนหลับอย่างเพียงพอ เลือกใช้ชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม มองโลกในแง่ดี รู้จักจัดการกับความรู้สึกเครียดกังวลต่าง ๆ ได้ดี เป็นต้น

แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพกายด้วยมากเช่นกัน แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ จะขอกล่าวถึงเฉพาะสุขภาพจิตที่พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญมากกว่าเท่านั้น

องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความคำว่า “สุขภาพจิต” ไว้ว่า คือสภาพที่แต่ละบุคคลสามารถเข้าใจได้ถึงศักยภาพของตน สามารถจัดการกับความเครียดระดับปกติในชีวิตได้ สามารถทำงานได้อย่างสร้างสรรค์และก่อให้เกิดผลดี และสามารถทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนของตนได้

คนไทยยิ้มอย่างมีความสุข (ภาพจาก https://bit.ly/3iAOLNk)

พระพุทธเจ้าเองก็ทรงมีคำแนะนำให้คนเราปฏิบัติตามเพื่อให้มีสุขภาพจิตดี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงพระพุทธพจน์เกี่ยวกับสุขภาพจิตดีไว้มากมาย เช่นว่า

“ความโศกนำสิ่งล่วงแล้วคืนมาไม่ได้ และความโศกไม่อาจนำมาซึ่งความสุขในอนาคตได้”

“อย่ารำพึงถึงความหลัง อย่ามัวหวังถึงอนาคต (ต้องอยู่กับปัจจุบัน)”

“เป็นคนควรหวังเรื่อยไป บัณฑิตไม่ควรท้อแท้ เราเห็นประจักษ์มากับตนเอง เราปรารถนาสิ่งใด ก็ได้สมตามนั้น”

“คนมีปัญญา ถึงเผชิญอยู่กับความทุกข์ ก็ย่อมไม่สิ้นหวังที่จะได้ประสบความสุข”

“การฝึกจิต ให้เกิดผล ดี” (หมายความว่าการฝึกจิตจนจิตสามารถทำงานได้ดี เป็นเรื่องดี)

“จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้”

คำว่าการฝึกจิตในที่นี้หมายถึงการทำสมาธิ

คนขับแท็กซี่ยิ้มแย้มแจ่มใสในประเทศไทย (ภาพจาก https://bit.ly/3iFAOxA)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ยังได้อธิบายขยายความพระพุทธพจน์เกี่ยวกับประโยชน์ของสมาธิไว้ในหนังสือ “พุทธธรรม” ว่ามีมากมายหลายประการ เช่น ลดความเครียด ความวิตกกังวล ความเศร้าโศกสะเทือนใจ การทำสมาธิจะทำให้มีความสุข ความเบิกบานใจ จิตใจผ่อนคลาย การตัดสินใจดี ใจสงบร่มเย็น จิตใจหนักแน่น เยือกเย็น มั่นคง รู้จักยืดหยุ่น มีเมตตาและกรุณามาก และร่างกายก็รู้สึกผ่อนคลายและมีความกระฉับกระเฉง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้เขียนไว้ในหนังสือดังกล่าวต่อไปด้วยว่าการทำสมาธิทำให้สุขภาพกายดีและช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้ด้วย เพราะร่างกายและจิตใจเกี่ยวเนื่องกันและพึ่งพาอาศัยกันและกัน ตามปกติของคนทั่วไปเมื่อร่างกายไม่สบาย จิตใจก็พลอยรู้สึกห่อเหี่ยวไปด้วย ยิ่งเมื่อรู้สึกย่อท้อ อาการเจ็บป่วยก็ยิ่งรุนแรง และแม้แต่เมื่อร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าต้องเผชิญกับเรื่องเลวร้ายมาก ๆ คนเราก็ล้มป่วยได้เหมือนกัน และในทางตรงกันข้ามคนที่จิตใจเข้มแข็งแม้จะล้มป่วย ร่างกายเท่านั้นที่ล้มป่วย จิตใจยังคงสบาย ซึ่งจิตใจลักษณะนี้จะช่วยลดอาการเจ็บป่วยและช่วยให้หายเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น รวมถึงจิตใจที่เป็นสมาธิจะมีพลังช่วยให้ลดความเจ็บปวดได้

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็เห็นพ้องกับคำกล่าวของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ดังกล่าวข้างต้นว่าร่างกายกับจิตใจสัมพันธ์กัน เช่นมีการค้นพบว่าความรู้สึกเศร้าสลดหดหู่ (depression) ไม่เพียงแต่ส่งผลลบต่อแรงจูงใจและอารมณ์โดยรวมเท่านั้น แต่ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลงด้วย คือ มันจะหยุดยั้งการเจริญเติบโตของทีเซลล์ (ที่เป็นหัวใจหลักในการปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ตอบสนองกับเชื้อโรค) จึงทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายและนาน และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอจะยิ่งซ้ำเติมให้อาการภูมิแพ้และหอบหืดเลวร้ายลงอีก รวมถึงอาจทำให้รู้สึกเศร้าสลดหดหู่ด้วย

เพื่อเติมพลังให้จิตใจเข้มแข็งจนสามารถจัดการอารมณ์ลบและส่งเสริมอารมณ์บวกได้นั้น พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ทำสมาธิ อาจเปรียบเทียบการทำสมาธิกับการออกกำลังกาย กล่าวคือ การทำสมาธิคือการออกกำลังจิตเพื่อทำให้จิตใจเข้มแข็ง เหมือนกับการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงนั่นเอง การออกกำลังกายมีหลายวิธีฉันใด การออกกำลังจิตก็มีหลายวิธีฉันนั้น เราจึงต้องเลือกวิธีออกกำลังจิตที่เหมาะสมกับเราเอง เพียงการทำสมาธิวันละ 10 นาทีติดต่อกันก็สามารถลดความรู้สึกวิตกกังวลกระวนกระวายได้ (anxiety) และการทำสมาธิติดต่อกัน 20 นาทีจะลดความรู้สึกโกรธได้

(ภาพจาก https://bit.ly/3tEjzmC)

วิธีทำสมาธิ

          ที่ซึ่งเหมาะสำหรับการทำสมาธิคือที่ที่เงียบ ยิ่งเงียบเท่าใด ก็ยิ่งดีเท่านั้น เมื่อพร้อมจะนั่งทำสมาธิแล้ว อาจนั่งบนเก้าอี้หรือเตียงนอนหรือบนพื้นก็ได้ (ดังท่านั่งใน 3 ภาพต่อไปนี้) ถ้านั่งบนเตียงหรือพื้น ก็ควรนั่งขัดตะหมาดหรือนั่งเอาเท้าขวาทับเท้าซ้ายก็ได้ เพราะเชื่อกันว่าท่านั่งหลังตรงจะทำให้กายกับจิตทำงานร่วมกันได้ดี เมื่อเริ่มนั่งสมาธิ ให้ปล่อยใจสบาย ๆ หลับตา แล้วคอย “กำหนดรู้” ลมหายใจเข้าออก รวมถึงกำหนดรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้ เช่น ความรู้สึกเมื่อย เป็นต้น แต่ต้องเพียงแต่กำหนดรู้เท่านั้น ไม่ต้องไป “คิดต่อ” เช่น เมื่อได้ยินเสียงแทรกเข้ามาในขณะกำลังนั่งสมาธิ ก็กำหนดรู้เพียงว่ามีเสียง ไม่ต้องไปคิดต่อ เช่นคิดต่อว่าเสียงดัง แล้วคิดต่อไปจนรู้สึกไม่พอใจ เป็นต้น และถ้าเผลอใจลอย ก็แค่รู้ตัวว่าใจลอย แล้วกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกหรือความรู้สึกต่อ จุดมุ่งหมายของการทำสมาธิแบบนี้ก็เพื่อให้ใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกปัจจุบัน (เรียกเป็นภาษาบาลีว่าอารมณ์) (อ่านต่อได้ที่นี้ และที่นี้)

(ภาพจาก https://bit.ly/36YYKK3) (ภาพจาก https://bit.ly/3NjHL5H)

(ภาพจาก https://bit.ly/36YYKK3)

ควรทำสมาธิบ่อยครั้งแค่ไหนและทำครั้งละนานเท่าใด

ยิ่งทำสมาธิได้ทุกวันก็ยิ่งดี ส่วนระยะเวลาที่ควรทำสมาธิแต่ละครั้งนั้นก็ขึ้นอยู่แต่ว่าจะทำสมาธิไปเพื่ออะไร อาจารย์สมาธิบางท่านแนะนำว่าโดยทั่ว ๆ ไปแล้วควรทำอย่างน้อยวันละ 10 นาที บางท่านก็แนะนำวันละ 30 นาที บางท่านแนะนำว่าคนที่เริ่มทำสมาธิใหม่ ๆ เริ่มนั่งสมาธิสักครั้งละ 5 นาทีก็พอ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นวันละ 1-2 นาที จนถึงนั่งวันละ 15 นาทีในสัปดาห์แรก แล้วพอสัปดาห์ที่สองเป็นต้นไป ก็นั่งวันละ 15 นาที

หลวงพ่อคุณรัตนะ พระวิปัสสนาจารย์ชาวศรีลังกา ได้กล่าวแนะนำไว้ในหนังสือ “เข้าใจเรื่องสมาธิด้วยภาษาง่าย ๆ” ว่า สำหรับคนที่เริ่มหัดทำสมาธิใหม่ ๆ ควรเริ่มจากทำครั้งละ 20 นาทีหรือ 30 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นจนทำสมาธิได้นานถึง 60 นาทีเมื่อครบ 1 ปีแรก ส่วนจิตแพทย์มธุลีนา รอย เจาธุรี ชาวอินเดีย ได้กล่าวไว้ในจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ว่า เมื่อเริ่มหัดทำสมาธิ ควรทำเพียง 2 นาทีก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นวันละเล็กวันละน้อยไปเรื่อย ๆ  

การทำสมาธิครั้งละหลายนาทีจะให้ประโยชน์มาก เช่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าการทำสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออกครั้งละ 27 นาทีอาจทำให้เซลล์สมองดีขึ้นในบริเวณฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ส่วนหลังของเปลือกสมองส่วนซิงกูเลต (posterior cingulate cortex) ส่วนที่สมองกลีบขม่อมและกลีบขมับพบกัน (temporo-parietal junction) และสมองน้อย (cerebellum)

(ภาพจาก https://bit.ly/3DmgU4i)

 

จะเรียนรู้พุทธธรรมและทำสมาธิได้ที่ใดบ้างในประเทศไทย

ในปัจจุบัน คนเราเกือบจะสามารถทำสมาธิได้ทุกแห่งในโลก เพราะมีข้อมูลการทำสมาธิมากมายในโลกออนไลน์ เช่น มีคลิปมากมายเกี่ยวกับการทำสมาธิในยูทูบ (YouTube) แต่อาจมีชาวต่างชาติที่คิดอยากมาเรียนพระพุทธศาสนาและเรียนหรือฝึกทำสมาธิในประเทศไทยซึ่งมีวัดนับร้อยวัดที่เปิดสอนทั่วประเทศไทย มีทั้งวัดในเมืองและวัดป่า วัดต่าง ๆ เหล่านี้มักจะเปิดสอนทั้งพระพุทธศาสนาและการทำสมาธิให้แก่คนต่างชาติโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย บางวัดอาจมีทั้งที่พักและอาหารฟรีให้ด้วย ตัวอย่างวัดที่มีการสอนพระพุทธศาสนาและทำสมาธิเหล่านี้ เช่น

  1. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ คณะ 5) โทร. 02-2226011 เว็บไซต์ http://www.watmahathat.com/vipassana-meditation/
  2. วัดพระธรรมกาย จ. ปทุมธานี เว็บไซต์ https://en.dhammakaya.net/
  3. วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ. เชียงราย โทร. 053-342186 เว็บไซต์ https://www.watchomtong.com
  4. วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จ. เชียงใหม่ โทร. 053-295912
  5. วัดภัททันตะอาสภาราม จ. ชลบุรี โทร. 086-8198358 เว็บไซต์ https://www.watbhaddanta.com/
  6. วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม) จ. เชียงใหม่ โทร. 085 033 3809 อีเมล์ [email protected].
  7. วัดป่านานาชาติ จ. อุบลราชธานี เว็บไซต์ https://bit.ly/3perzqx
  8. วัดป่าถ้ำวัว จ. แม่ฮ่องสอน โทร. 081 031 3326 เว็บไซต์ https://www.wattamwua.com/contact/
  9. ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ โทร. 0 2455 2525 เว็บไซต์ Website: www.ybat.org/eng/
  10. วัดหนองป่าพงษ์ จ. อุบลราชธานี โทร. 0 4532 2729 เว็บไซต์ http://watnongpahpong.org/indexe.php

ผู้เขียนขอส่งความปรารถนาดีมายังผู้อ่านทุกท่าน กล่าวคือ ในโอกาสวันสุขภาพโลกนี้ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี ขอให้มีจิตใจหนักแน่นเข้มแข็งเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ดีหรือร้ายในชีวิต เช่น เมื่อได้หรือต้องสูญเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (มีลาภหรือเสื่อมภาพ gain and loss) เมื่อได้รับความนิยมมีอำนาจเป็นใหญ่เป็นโตหรือต้องสูญเสียมันไป (มียศหรือเสื่อมยศ popularity and unpopularity) เมื่อได้รับคำสรรเสริญเยินยอยกย่องชมเชยหรือถูกตำหนิติเตียนนินทาว่าร้าย (ได้รับคำสรรเสริญหรือกูกนินทาว่าร้าย blame and praise) และเมื่อได้ความสบายกายใจเบิกบาน บันเทิงเริงใจ หรือต้องรับความทุกขเวทนาทรมานกายใจ (สุขหรือทุกข์ happiness and suffering) และเพื่อให้จิตใจเข้มแข็งยิ่งขึ้น ควรทำสมาธิเป็นประจำ สมาธิจะช่วยให้จิตใจเข้มแข็งหนักแน่นและสามารถทำให้มีความรู้สึกดีต่อเหตการณ์ทั้งดีและร้ายได้ ควรรู้ว่าสิ่งดีและสิ่งร้ายเป็นของคู่กัน เกิดกับทุกชีวิตแบบสลับกันอยู่ตลอดเวลา และขอให้มีความมุ่งมั่นที่จะทำดีให้ชีวิตมีความสุขและประสบความสำเร็จรวมทั้งร่วมทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนด้วย โดยขอให้มีเรื่องดี ๆ เหล่านี้ทุกวัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวันสุขภาพโลกเท่านั้น  

***

หนังสืออ้างอิง

  1. 1. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) อมฤตพจนา พุทธศาสนสุภาษิต ที่ https://bit.ly/3ILzELw
  2. 2. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับขยาย ที่ https://bit.ly/3LDTom2 และ

   https://bit.ly/3DaxILv        

  1. 3. Mahtab Alam Quddusi. Importance of Good Health in Our Life – How can We Achieve Good

   Health and Well Being? at https://bit.ly/3tDEsyj 


แปลปรับจากบทความ On World Health Day, Know the Buddha’s Advice on Achieving Mental Health ซึ่งเขียนโดยผู้แปลเช่นกัน

ผู้แปล ดร. ไพฑูรย์ สงค์แก้ว

เมษายน พ.ศ. 2565