Connecting People Through Goodwill and Friendship

วันวิสาขบูชา: วันที่ระลึกการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ภาพวาดพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน อันเป็นที่มาของวันวิสาขบูชา (ภาพจาก https://bit.ly/3saDrN6)

วันวิสาขบูชาคือวันอะไร

วันวิสาขะคือวันขึ้น 15 ค่ำอยู่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมตามจันทรคติ เป็นวันเพ็ญเดือน 6 ที่ชาวพุทธเราฉลองเพื่อรำลึกการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจะแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าผู้ที่ได้ทรงประทานพุทธธรรมไว้ให้ และชาวพุทธเราได้ดำเนินชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและผู้อื่นไปพร้อม ๆ กันตามแนวคำสอนที่ประเสริฐของพระพุทธองค์

คำว่า “วิสาขะ” นี้ในภาษาอังกฤษอาจพบที่เขียนกันอยู่หลายแบบ เช่น Vesak ซึ่งใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลก Vesakha และ Vaishakha ส่วนในประเทศอินเดียและเนปาลมักเรียกวันวิสาขะว่าพุทธชยันตี (Buddha Jayanti) แปลว่า วันที่ระลึกถึงวันประสูติของพระพุทธเจ้าบ้าง พุทธปุรณิมา (Buddha Purnima) หมายถึงการบูชาพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือนวิสาขะบ้าง หรือเรียกรวม ๆ กันว่าวันพระพุทธเจ้าบ้าง (Buddha Day) ส่วนในประเทศไทยเราเรียกกันว่าวันวิสาขบูชา (Visakha Buja Day)

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมาองค์การสหประชาชาติได้จัดงานฉลองวันวิสาขะที่สำนักงานใหญ่ขององค์การฯ ในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประจำทุกปีเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อโลกด้วย

พระพุทธเจ้าคือใคร

คำว่า พุทธะ แปลว่า ผู้ตรัสรู้ (Enlightened One หรือ Awakened One) ไม่ใช่เป็นชื่อจริง แต่เป็นสมญานามที่ในประวัติศาสตร์ของโลกได้กราบถวายแด่มหาบุรุษผู้ฉลาดหลักแหลมยิ่งจนสามารถรู้แจ้งถึงวิธีดับทุกข์สร้างสุขแทนได้ มหาบุรุษท่านนี้คือเจ้าชายสิทธัตถะผู้ได้ถือครองเพศนักบวชเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษาแล้วเสาะแสวงหาจนพบโมกขธรรม (หรือโมกษธรรม หรืออมตธรรม) เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา หลังจากนั้นก็ทรงได้รับการถวายพระนามว่าพุทธะหรือพระพุทธเจ้า

พระโพธิสัตว์สิทธัตถะประสูติในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโทธนะและพระนางสิริมหามายา ผู้ครองแคว้นศากยะ (อยู่ในประเทศเนปาลปัจจุบัน) มีกบิลพัสดุ์เป็นเมืองหลวง แคว้นศากยะตั้งอยู่บริเวณเชิงเทือกเขาหิมาลัย

การขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบซากเมืองกบิลพัสด๋ ซึ่งปัจจุบันชื่อติเลาราโกฏ (Tilaurakot) อยู่ในประเทศเนปาล  (ภาพจาก https://bit.ly/3KBgYiq)

วัดพระนางมายา (Maya Devi Temple หรือ Lumbini Temple) สร้างคร่อมสถานที่ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะที่ลุมพินี (Lumbini) ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งมรดกโลกด้วย (UNESCO world heritage site) (เอื้อเฟื้อภาพโดยสถานเอกอัครราชทูตเนปาลที่กรุงเทพฯ)

การขุดค้นทางโบราณคดีในวัดพระนางมายาได้พบชั้นดินก่อสร้างเก่า ๆ หลายชั้น บางชั้นเก่าแก่ถึงสมัยพุทธกาล (ภาพจาก https://bit.ly/3MJPKHP)

(ภาพจาก https://bit.ly/3vAt3QG)

ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระโพธิสัตว์สิทธัตถะเป็นราชกุมารที่ฉลาดหลักแหลม (prodigy) มีพระอุปนิสัยอ่อนโยนและมีพระกรุณาสูงมาก

ในฐานะเจ้าชายได้ทรงศึกษาศิลปะวิทยาหลายแขนงเพื่อเตรียมตัวเป็นผู้ปกครองที่สามารถ และในขณะเดียวกันก็ทรงศึกษาคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์/ฮินดูด้วย เช่น คัมภีร์พระเวท (Vedas) คัมภีร์เวทางค์ (Vedangas) และคัมภีร์อุปนิษัท (Upanishads) ซึ่งในคัมภีร์อุปนิษัทนี้เองพระองค์ทรงสนพระทัยหลายเรื่อง เช่น เรื่องวงจรการตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย อย่างไม่มีที่สิ้นสุด (สังสารวัฏ) และเรื่องการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ (ภาษาบาลีเรียกว่าโมกขะ หรือภาษาสันสกฤตเรียกว่าโมกษะ moksha)

พระเจ้าสุทโธทนะได้จัดสรรสิ่งบำรุงบำเรอต่าง ๆ นานาให้เจ้าชายสิทธัตถะเพื่อให้สนใจการใช้ชีวิตทางโลกมากกว่าทางธรรม ด้วยทรงหวังจะให้พระโอรสเป็นผู้ปกครองเหมือนพระองค์ เช่น มีตำหนักให้ประทับสามหลังสำหรับสามฤดู เป็นต้น แต่เจ้าชายสิทธัตถะกลับสนพระทัยเรื่องโมกขะมากกว่า คือ การแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะตายแล้วไม่เกิดอีก หรือหลุดพ้นจากสังสารวัฏ

เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายาก็จัดให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงเข้าพิธีวิวาห์กับเจ้าหญิงยโสธรา (หรือพิมพา หรือโคปา) และเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษาทรงมีพระโอรสด้วยกันพระนามว่าราหุล

เมื่อพระชนมายุ 29 พรรษานี้เอง เจ้าชายสิทธัตถะได้ขออนุญาตพระชายากับพระบิดาและพระมารดาเพื่อไปใช้ชีวิตแบบนักบวชเพื่อแสวงหาโมกขะ พระองค์ตรัสกับพระนางพิมพาว่า “แม้จะต้องจากเจ้าไป จะไม่ได้อยู่เคียงข้าง แต่ความรักที่มีต่อเจ้าจะยังคงเหมือนเดิม จะรักเจ้าตลอดไป และเมื่อเราพบโมกขะแล้ว จะรีบนำเอากลับมาหาเจ้าและลูกรักของเรา” พระองค์ก็กราบบังคมทูลขอพระราชานุญาตทำนองเดียวกันว่า “ลูกไม่มีวันทิ้งพระบิดาและพระมารดา ลูกเพียงขอพระราชานุญาตไปใช้ชีวิตแบบนักบวชเพื่อแสวงหาโมกขะเท่านั้น ทันทีที่พบโมกขะ ลูกจะรีบกลับมา”[i]

หลังจากนั้น พระโพธิสัตว์สิทธัตถะก็เสด็จออกไปใช้ชีวิตแบบนักบวชเพื่อแสวงหาโมกขะ ทรงศึกษาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์ตามสำนักต่าง ๆ และทรงทดลองภาคปฏิบัติแนวทางสำหรับโมกษะอย่างจริงจังยิ่ง (ทุกกรกิริยา) อยู่ 6 ปี ก็ทรงประจักษ์ว่าแนวทางที่ปฏิบัติอยู่นั้นไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องสำหรับโมกขะ (อาจเปรียบเหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มักจะต้องพบก่อนว่าวิธีการที่ทำการทดลองอยู่นั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ แล้วนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ก็จะคิดค้นหาทดลองวิธีอื่น ๆ ต่อไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ) ทรงเลิกทำทุกกรกิริยา เปลี่ยนไปทำสมาธิมากขึ้น และเสวยพระกระยาหารแต่พอประมาณเพื่อให้พระวรกายไม่อ่อนแอและจิตเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำในเดือนวิสาขะทรงนั่งใต้ต้นปีปัลแล้วตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะนั่งทำสมาธิไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพบโมกขะ

ทั้งนี้ ต้นไม้ที่พระองค์ทรงนั่งอธิษฐานจิตที่โคนนี้เรียกในภาษาอินเดียพื้นเมืองว่า “ปีปัล” และต่อมาเรียกว่าต้นโพธิ – ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีว่า โพธิ หรือโพธิญาณ หรือสัมโพธิญาณ หรือสัมมาสัมโพธิญาณ ที่ล้วนหมายถึงการรู้แบบค้นพบลักษณะนี้เป็นคนแรก

เหตุการณ์สำคัญยิ่งในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เมื่อทรงตั้งพระทัยที่จะค้นให้พบโมกขะแล้ว (ทั้งนี้ โมกขะคือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ตายแล้วจะไม่เกิดอีก อาจเรียกว่าอมตธรรมก็ได้ ซึ่งหมายถึงความรู้ที่ทำให้ตายแล้วไม่เกิดอีก) ก็ทรงนั่งทำสมาธิจนจิตใจสงบรวมตัวเป็นพลังได้มากแล้ว จึงส่งกระแสพลังจิตไปดูอดีตชาติต่าง ๆ ที่นับไม่ถ้วนของพระองค์เอง คือ เคยเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วตาย แล้วเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอีก เวียน ๆ ซ้ำ ๆ กันอยู่อย่างนี้ จนนับไม่ถ้วน (เรียกว่าทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) ต่อจากนั้น ก็ทรงส่งกระแสพลังจิตไปดูการเกิดและตายลักษณะเดียวกันนี้ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บ้าง ก็ทรงเห็นได้มากมายตราบเท่าที่ทรงประสงค์จะเห็น (เรียกว่าทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ) และในท้ายที่สุดทรงส่งพลังจิตไปหาจนพบปฐมเหตุว่าที่เวียนว่ายตายเกิดกันอยู่นั้นพราะยังมีราคะ โทสะ โมหะ จึงทำกรรมทั้งดีและชั่วปะปนกัน จึงเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เกิดดีบ้าง เกิดเลวบ้าง ถ้าจะตายแล้วไม่ต้องเกิดอีก จะต้องละราคะ โทสะ และโมหะให้ได้ (เรียกว่าทรงบรรลุอาสวักขยญาณ)

เมื่อทรงบรรลุอาสวักขยญาณนี้ พระองค์ตรัสว่าเราได้ทรงค้นพบโมกขะหรืออมตธรรมแล้ว และเมื่อดับขันธ์ปรินิพพาน (คือ การตายของพระพุทธเจ้า) แล้วพระองค์จะไม่เกิดอีก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของพระองค์

พวกเราชาวพุทธเรียกการค้นพบอมตธรรมนี้ว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ซึ่งมีในคืนวันขึ้น 15 ค่ำเดือนวิสาขะ

พระมหาโพธิสถูปเป็นพระสถูปประธานในวัดมหาโพธิ (Mahabodhi Temple Complex) ที่สร้างขึ้นบนสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในรัฐพิหาร (ในสมัยพุทธกาลเรียกว่าแคว้นมคธ) ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกด้วย (ภาพจาก https://bit.ly/3LCwwnm)

ภายในพระมหาโพธิสถูปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ชาวพุทธจำนวนมากจากทั่วโลกมาสักการะบูชาในแต่ละวัน (ภาพจาก https://bit.ly/3y3qQz1)

ต้นโพธิที่เชื่อกันว่าเกิดตายต่อกันมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้วซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งตรัสรู้อยู่หลังติดกับพระมหาโพธิสถูป (ภาพจาก https://bit.ly/3KrGcQo)

หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงเที่ยวสั่งสอนแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีกว่าตั้งแต่ธรรมะสำหรับฆราวาสใช้ในการดำเนินชีวิตปกติให้มีความสุข ความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมจนถึงอมตธรรมสำหรับนักบวชอยู่เป็นเวลา 45 ปี ทรงตั้งชุมชนตัวอย่างขึ้นมาเรียกว่าชุมชนพุทธ (พุทธสาวก) ซึ่งประกอบด้วยนักบวชผู้ชาย (ภิกษุและสามเณร) นักบวชผู้หญิง (ภิกษุณีและสามเณรี) ฆราวาสชาย (อุบาสก) และฆราวาสหญิง (อุบาสิกา) แล้วทรงวางกฎให้สมาชิกของชุมชนต้องปฏิบัติ เช่น อุบาสกและอุบาสิกาต้องมีศีล 5 สามเณรต้องมีศีล 10 พระภิกษุต้องมีศีล 227 ข้อ พร้อมกับทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีประเสริฐ (ธรรมะ) ต่าง ๆ มากมาย เป็นต้น

เมือพระชนมายุ 80 พรรษา พระองค์ทรงปรินิพพานในสวนต้นสาละ (สาลวโนทยาน) ที่เมืองกุสินารา (ปัจจุบันเป็นอำเภอเรียกว่ากุศินคร Kushinagar) อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย) โดยในขณะที่ทรงประทับอยู่บนเตียงปรินิพพานนั้น ได้ตรัสบอกความจริงของชีวิตและให้กำลังใจแก่เหล่าสาวกเป็นครั้งสุดท้ายว่ากฎและธรรมะสำหรับการใช้ชีวิตที่ดีประเสริฐที่พระองค์ได้ชี้แนะพร่ำสอนมาตลอดนั้นจะเป็นครูอาจารย์แทนพระองค์ตลอดไป และขอให้เหล่าสาวกรู้ว่าร่างกายของคนเรานั้นต้องเสื่อมต้องสิ้นไปเป็นธรรมดา ไม่คงอยู่ถาวรได้ ดังนั้น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ขอให้ตั้งใจใช้ชีวิตอย่างมีสติทำดีทุกเมื่อ อย่าได้ประมาทเด็ดขาด เพราะถ้าทำได้อย่างนี้ ทุกคนก็จะสามารถบรรลุอมตธรรมได้ดังหวัง

พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานในวันเพ็ญของเดือนวิสาขะเช่นกัน

วัดมหาปรินิพพาน (Mahaparinibbana temple อาคารเตี้ย) และพระสถูปยุคใหม่สร้างอยู่ในสวนที่เป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่เมืองกุศินคร ประเทศอินเดีย (เอื้อเฟื้อภาพโดยพระสงฆ์ไทยในอินเดีย )

พระพุทธรูปปางปรินิพพานประดิษฐานอยู่ในพระสถูป (เอื้อเฟื้อภาพโดยนายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี)

อะไรคือพุทธมรดก

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือพุทธมรดก หรือจะกล่าวว่าพระพุทธศาสนาคือพุทธมรดกก็ได้ หรือจะเรียกว่าธรรมะเฉย ๆ ก็น่าจะยังได้ คำว่าธรรมะในที่นี้หมายถึงสองอย่าง คือ สภาวะความจริงตามที่มันเป็น และคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ชี้แนะความจริงเหล่านั้นจนผู้ปฏิบัติสามารถมีประสบการณ์ที่ดีกับความจริงเหล่านั้นได้

คำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากกว่า 80,000 เรื่อง ขอยกมากล่าวถึงเฉพาะหัวข้อ 6 เรื่องเท่านั้น คือ

  1. ศีล 5 ที่ชาวพุทธฆราวาสทั้งชายและหญิงต้องมีในการดำเนินชีวิต (Five Precepts)
  2. วิธีสร้างความสำเร็จและความสุขทั้งต่อตนเองและผู้อื่นจำนวน 38 วิธี (Mangala Sutta)
  3. กรรม (Kamma)
  4. อริยสัจ 4 (Four Noble Truths)
  5. มรรค 8 (Noble Eightfold Path)
  6. การทำสมาธิ (Meditation) ทั้งนี้ ผู้อ่านอาจอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิไทย (Thailandfoundation.or.th) ที่นี้

นอกจากนี้ ผู้อ่านอาจอ่านสรุปสาระสำคัญของพระพุทธศาสนาได้ที่นี้ ซึ่งมี 3 ประเด็น คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำบุญกุศลให้มากขึ้น และการค่อย ๆ ลดความรู้สึกไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงจนสามารถชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือจิตใจต้องไม่ตกเป็นทาสของความคิดฝ่ายบาปอกุศล โดยต้องมีความรู้สึกสงบและเป็นสุขให้ได้มากที่สุดจนตลอดเวลาได้ก็ยิ่งดี (ผู้อ่านอาจอ่านบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเว็บไซต์ของบีบีซีได้ที่นี้ และหนังสือ “พุทธรรม” โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ที่นี้

การฉลองวันวิสาขบูชา

ประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาจะจัดงานวิสาขบูชา แต่รูปแบบของงานอาจแตกต่างกันบ้าง เช่น ชาวพุทธในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย สิงคโปร์ ศรีลังกา และเวียดนาม อาจจุดเทียนบูชาพระพุทธเจ้า หรือไม่ก็ทำประทีบโคมไฟปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนชาวพุทธญี่ปุ่นและชาวพุทธจีนอาจฉลองวันวิสาขบูชาด้วยการสรงน้ำพระพุทธรูป เป็นต้น

พระภิกษุชาวเวียดนามกำลังนำชาวพุทธเวียดนามประกอบพิธีวิสาขบูชาที่ประเทศเวียดนาม (ภาพจาก https://bit.ly/3Ft6e53)

พระภิกษุกำลังปล่อยโคมไฟในงานวิสาขบูชาที่บริเวณเจดีย์บรมพุทโธในประเทศอินโดนีเซีย (ภาพจาก https://bit.ly/3ycG70h)

ไฟประดับติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศศรีลังกาเพื่อฉลองวันวิสาขบูชา (ภาพจาก https://bit.ly/3FdL9v2)

ชาวพุทธมาเลเซียกำลังช่วยกันขึงผ้าภาพวาดทางพระพุทธศาสนาในงานวันวิสาขบูชาที่วัดธิเบตนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 (ภาพจาก https://bit.ly/3ORvXIk)

ชาวญี่ปุ่นนิยมสรงน้ำพระพุทธรูปในวันวิสาขบูชา (ภาพจาก https://bit.ly/3saADPS)

ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติได้จัดงานวันวิสาขบูชาที่สำนักงานใหญ่ขององค์การฯ ที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย (ภาพจาก https://bit.ly/38E40mO)

สำหรับประเทศไทย ชาวพุทธไทยเราให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชามาก ส่วนใหญ่จะไปวัดทำบุญกันตั้งแต่เช้า มีการรับศีลจากพระ ตักบาตรพระสงฆ์หรือไม่ก็ถวายอาหารเช้าแด่พระ และฟังเทศน์ พอถึงเวลาบ่ายหรือไม่ก็เวลาเย็นหรือหัวค่ำ ก็จะไปเวียนเทียนที่วัดอีกครั้ง แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ไปวัดเฉพาะเวลาเช้าหรือบ่ายเย็นแต่เพียงเวลาเดียว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเวียนเทียนในวันวิสาขบูชาที่วัดพระแก้ว (ภาพจาก https://yhoo.it/3ku4L4M)

พระภิกษุกำลังเตรียมเดินนำอุบาสกและอุบาสิกาในพิธีเวียนเทียนวันวิสาขบูชาที่วัดพระธรรมกาย (ภาพจาก https://yhoo.it/3MC5Ymm)

อุบากสกและอุบาสิกาชาวไทยกำลังเดินเวียนเทียนรอบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามในวันวิสาขบูชา (ภาพจาก https://bit.ly/3s8fnKQ)

นอกจากนี้ การฉลองวันวิสาขบูชายังอาจหมายถึงการพยายามทำสิ่งดี ๆ ให้สังคมด้วย อาทิ การแบ่งปันความสุข และช่วยเหลือผู้อื่นในลักษณะต่าง ๆ ดังเช่นที่สภากาชาดไทยได้เชิญชวนประชาชนให้บริจาคโลหิตในวันวิสาขบูชา (ภาพจาก https://bit.ly/3MR3PmU)

          ในวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2565 นี้ ผู้เขียนขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านได้พร้อมใจกับชาวพุทธทั่วโลกประมาณ 500 ล้านคนร่วมฉลองวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การทำความดีให้ตัวเราเองและคนอื่น ๆ มีความสุข การมีความกรุณาต่อตนเองและคนอื่นด้วยไปพร้อม ๆ กัน การให้อภัยต่อตัวเองและคนอื่น ๆ ด้วยไปพร้อมกัน เพราะคนเราแม้จะมีความเชื่อแตกต่างกันก็ควรหาแนวทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความอดกลั้นและความใจกว้างยอมรับสิ่งอื่น ๆ ที่แตกต่างออกไปเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของการมีสันติสุข และเราควรฉลองวันวิสาขบูชากันในลักษณะนี้ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงกล่าวให้กำลังใจไว้ว่า ผู้ที่คิดว่าตัวเองทำได้จะทำได้

………………

แปลปรับขยายจากบทความภาษาอังกฤษโดย  ดร. ไพฑูรย์ สงค์แก้ว

หนังสืออ้างอิงหลัก:

  1. Ajahn Jayasaro. Without and Within: Questions and Answers on the Teachings of Theravada Buddhism. Amarin printing and publishing Plc. 2014.
  2. Harris, Ian Ph.D. The Complete Illustrated Encyclopedia of Buddhism. HH Hermes House.

 

[i] Thich Nhat Hanh. Old Path White Clouds. P. 81